วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554

กลว้ยไม้สกุลแวนด้า (Vanda)
Vanda
ในปี 1795 แวนด้า (Vanda) ได้ใช้เป็นชื่อสกุลของกล้วยไม้สกุลแวนด้าเป็นครั้งแรก ซึ่งตั้งเพื่อเป็นเกียรติ์แด่นักวิจัยชื่อ Sir William Jones ที่ศึกษาเกี่ยวกับทวีปเอเชีย คำว่าแวนด้ามีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต ที่เรียกไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นเกาะอยู่บนต้นไม้ใหญ่ในแถบประเทศอินเดีย ต่อมาในปี 1820 Dr. Robert Brown ได้ใช้คำว่าแวนด้าเป็นชื่อของสกุล (Genus) กล้วยไม้ในกลุ่มแวนด้า ซึ่งใช้อธิบายชนิดของกล้วยไม้ที่มีลักษณะเดียวกันกับ Vanda tessellata (สามปอยอินเดีย)

กล้วยไม้ในสกุลแวนด้ามีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย ประเทศกลุ่มอินโดจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และแถบตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย โดยทั่วไปแล้วในธรรมชาติกล้วยไม้ในกลุ่มแวนด้า (Vandaceous) มักจะพบอยู่ในเขตร้อนชื้น (Topical) และอยู่เหนือจากระดับน้ำทะเล 1,700 ฟุต (500 เมตร) แต่ก็มีกล้วยไม้อีกหลายชนิดในกลุ่ม Vandaceous ที่สามารถเจริญเติบโตได้ในที่อุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส กล้วยไม้ในกลุ่มของแวนด้าหรือ Vandaceous เช่น Aerides, Angraecum, Ascocentrum, Euanthe, Gastrochilus, Neofinetia, Papilionanthe, Plectrelminthus, Renanthera, Rhynchostylis, Saccolabium, Sarcanthus, Trichoglottis, Vanda, Vandopsis รวมไปถึงกล้วยไม้ลูกผสมสกุล Aranda, Ascocenda และ Mokara เป็นต้น
       กล้วยไม้ในสกุลแวนด้า จะมีลำต้นเดี่ยวและเจริญเติบโตออกทางยอดหรือที่เรียกว่าโมโนโพเดียม (Monopodial) โดยลำต้นจะแตกใบออกสองข้างตรงข้ามกันและยอดจะเจริญขึ้นข้างบนไปไม่มีที่สิ้นสุด มีช่อดอกตั้งหรือค่อนข้างตั้ง ก้านช่อดอกยาวและแข็ง ส่วนมากดอกค่อนข้างใหญ่และมักบานทน กลีบดอกชั้นนอกและชั้นในมีขนาดไล่เลี่ยกัน แผ่นกลีบดอกโตแต่โคนกลีบคอด ปากมีเดือยสั้นๆ การจำแนกแวนด้า อาจอาศัยรูปร่างลักษณะของใบเป็นหลัก ซึ่งจำแนกได้เป็น 4 ประเภทคือ
1. แวนด้าใบกลม (Terete leaved) แวนด้าประเภทนี้จะมีใบกลมยาวทรงกระบอก ต้นสูง ข้อห่าง เช่น เอื้องโมก (V. teres) แวนด้าฮุกเกอเรียนา (V. hookeriana) ไอ้หนวด (V. tricuspidata) ส่วนลูกผสมของแวนด้าใบกลม เช่น แวนด้า โจคิม (V. Miss Joaquim) เป็นลูกผสมระหว่าง แวนด้า ฮุกเกอเรียนา กับเอื้องโมก นิยมปลูกเป็นไม้ตัดดอก เพราะเลี้ยงง่าย ออกดอกเก่ง
Vanda Miss Joaquim Agnes
Vanda Miss Joaquim Agnes
(Photo ref. from Internet)
Vanda Miss Joaquim
Vanda Miss Joaquim
(Photo ref. from Internet)





2. แวนด้าใบแบน (Strap leaved) แวนด้าประเภทนี้มีใบแผ่แบนออก หน้าตัดของใบจะเป็นรูปตัววี มีข้อถี่ ปล้องสั้น จะเห็นใบซ้อนชิดกัน ปลายใบมักจะโค้งลงมา และปลายใบจะมีจักเป็นแฉก เช่น
- ฟ้ามุ่ย (Vanda coerulea)
- ฟ้ามุ่ยน้อย (Vanda coerulescens)
- สามปอยนก (Vanda brunnea ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น V. liouvillei)
- สามปอยชมพู (Vanda bensonii)
- สามปอยดินเดีย (Vanda tessellata)
- สามปอย (Vanda denisoniana) ซึ่งชนิดนี้ดอกมีสีแตกต่างกันไป จึงเรียกต่างกันไปคือ
        สามปอยขุนตาล ดอกมีสีเหลืองนวล เหลืองอมเขียว หรือขาวอมเขียว
        สามปอยดง ดอกมีพื้นสีน้ำตาล หรือมีลายร่างแห สีน้ำตาล
        สามปอยหลวง ดอกมีสีเหลืองหรือเหลืองอมน้ำตาล มีลายร่างแหและมีกลิ่นหอม
- แวนด้าแซนเดอเรียนา (Vanda sanderiana)
- เข็มขาว (Vanda lilacina)
- เข็มเหลือง (Vanda testacea)
- สะแล่ง (Vanda pumila)

Vanda coerulea
แวนด้าฟ้ามุ่ย Vanda coerulea
(Photo from member by กล้วยไม้นายดาบ
)
Vanda coerulea
แวนด้าฟ้ามุ่ย Vanda coerulea
Vanda brunnea
Vanda brunnea
(Photo ref. from Internet)



Vanda denisoniana
สามปอย Vanda denisoniana
Vanda bensonii
สามปอยชมพู Vanda bensonii

3 . แวนด้าก้างปลา (Semi-terete leaved) เป็นแวนด้าที่มีรูปทรงของใบและลำต้น กึ่งใบกลมกับใบแบน พบในธรรมชาติน้อยมาก เท่าที่พบมี 2 ชนิด ได้แก่ แวนด้า อะเมสเซียนา (Vanda amesiana) และแวนด้า คิมบาลเลียนา (Vanda kimballiana) ซึ่งกล้วยไม้สองชนิดนี้เป็นหมัน เข้าใจว่าน่าจะเป็นลูกผสมป่า (natural hybrid) ไม่ใช่ชนิดแท้ (species)

       อย่างไรก็ตามแวนด้าก้างปลามนุษย์ก็ได้นำแวนด้าใบกลมผสมกับแวนด้าใบแบน ได้สายพันธุ์ใหม่ เช่น
- แวนด้า เอ็มมา แวน ดีเวนเตอร์ (Vanda Emma van Deventer) เป็นลูกผสมระหว่าง V. tricolor กับเอื้องโมก
- แวนด้า มาเจสติก (V. Magestic) ลูกผสมระหว่างฟ้ามุ่ยกับเอื้องโมก
- แวนด้า โจเซฟิน แวน เบอโร (Vanda Josephine van Brero) ลูกผสมระหว่าง V. insignis กับเอื้องโมก

Vanda kimballiana
Vanda kimballiana
(Photo ref. from Internet)
Vanda  Emma van Deventer "Flaming"
Vanda Emma van Deventer "Flaming"
(Photo ref. from Internet)






4 . แวนด้าใบร่อง (Quarter-terete leaved) เป็นแวนด้าที่มีรูปทรงของใบและลำต้นค่อนข้างไปทางแวนด้าใบแบน ไม่พบในธรรมชาติ ที่ปลูกเลี้ยงกันเป็นลูกผสมทั้งหมด โดยนำแวนด้าก้างปลามาผสมกับแวนด้าใบแบน ตัวอย่างเช่น
- แวนด้า เจ้าพระยา (Vanda Chao Phraya) ลูกผสมระหว่าง แวนด้า เอมมา แวน ดีเวนเตอร์ กับแวนด้า อะลิเซีย โอโน
- แวนด้า ทีเอ็มเอ (Vanda T.M.A.) ลูกผสมระหว่างแวนด้าโจเซฟิน แวน เบอโร กับ แวนด้าแซนเดอเรียนา
- แวนด้า บลูมูน (Vanda Blue Moon) ลูกผสมระหว่างแวนด้าโจเซฟิน แวน เบอโร กับฟ้ามุ่ย
- แวนด้า หว่อง โป นี (Vanda Wong Poh Nee) ลูกผสมระหว่างแวนด้าโจเซฟิน แวน เบอโร กับสามปอยอินเดีย
- แวนด้า ตันชยัน (Vanda Tan Chay Yan) ลูกผสมระหว่างแวนด้าโจเซฟิน แวน เบอโร กับแวนด้าเดียริไอ


Vanda  T.M.A. "Red"
Vanda T.M.A. "Red"
(Photo ref. from Internet)
Vanda  T.M.A.
Vanda T.M.A.
(Photo ref. from Internet)
Vanda  T.M.A.
Vanda T.M.A.
(Photo ref. from Internet)


การปลูกเลี้ยงแวนด้า

    แวนด้าแต่ละประเภทต้อ งการสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ดังนั้นการปลูกเลี้ยงจึงมีความแตกต่างกัน ซึ่งพอจะแยกแยะอย่างคร่าวๆ ได้ดังนี้

1. แวนด้าใบกลมเป็นกล้วยไม้ที่มีทรงต้นสูงชลูด และออกดอกเมื่อต้นสูง 1 เมตรขึ้นไปนิยมปลูกใส่กระถางตั้งโต๊ะ หรือปลูกลงแปลง สำหรับสภาพแวดล้อมที่แวนด้าใบกลมต้องการคือ

     - แสง
พวกแวนด้าใบกลมต้องการแสงแดดค่อนข้างมาก คือสามารถรับแสงได้ 100 เปอร์เซ็นต์ตลอดทั้งวัน แต่ถ้ากล้วยไม้ยังเล็กอยู่ควรพลางแสงเหลือ 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อกล้วยไม้โตขึ้น รากเดินดีแล้วจึงค่อยๆ เปิดรับแสงมากขึ้นได้ แวนด้าใบกลมถ้าได้รับแสงน้อยต้นจะสูงชลูด และจะไม่ค่อยออกดอกหรือไม่ออกดอกเลย
     - อุณหภูมิและความชื้น
การปลูกแวนด้าใบกลมลงแปลงจะรับแสงโดยตรงตลอดทั้งวัน ดังนั้นอุณหภูมิในช่วงบ่ายจะสูงมาก เพื่อไม่ให้กล้วยไม้ร้อน แห้งเหี่ยวหรือเกิดใบไหม้ ควรเพิ่มความชุ่มชื้นบริเวณแปลงปลูกให้มากขึ้นโดยการใช้เครื่องปลูก เช่น ขุยมะพร้าวหรือกาบมะพร้าวคลุมบนแปลงปลูก
     - น้ำ
 แวนด้าใบกลมจะปลูกอยู่กลางแจ้ง ทำให้น้ำระเหยออกจากเครื่องปลูกได้มาก ต้นกล้วยไม้จะมีโอกาสขาดน้ำได้ง่าย ดังนั้นควรรดน้ำให้โชกในตอนเช้า และถ้าวันใดที่กล้วยไม้แห้งมาก ควรรดน้ำอีกครั้งในตอนเย็น
     - ปุ๋ย
 ควรให้ปุ๋ยสัปดาห์ละครั้ง โดยใช้สูตรเสมอในการเร่งการเจริญเติบโตระยะแรก และใช้สูตรตัวกลางสูงสำหรับระยะเร่งดอก การปลูกลงแปลงสามารถให้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเสริมได้ทุกๆ 5-6 เดือน


2. แวนด้าใบแบน การปลูกแวนด้าใบแบนควรปลูกในภาชนะโปร่ง แขวนราว ภาชนะที่ใช้ปลูกสามารถใช้กระเช้าไม้สักหรือกระเช้าพลาสติกก็ได้ อาจใส่เครื่องปลูกพวกถ่านลงไปถ้าปลูกในโรงเรือนที่ความชื้นไม่เพียงพอ หรือถ้าโรงเรือนมีความชื้นสูงก็ไม่จำเป็นต้องใส่ ขั้นตอนปลูกพวกแวนด้าใบแบนเริ่มจากลูกกล้วยไม้ออกจากขวดมาลงกระถางหมู่ แล้วย้ายลงกระถางเจี๊ยบ หรือกระถางนิ้ว จากนั้นย้ายมาปลูกในกระถางหรือกระเช้า 3 นิ้ว เลี้ยงจนโตแล้วจึงย้ายมาลงในกระเช้าที่ใหญ่ขึ้นขนาด 5-6 นิ้ว การดูแลกล้วยไม้ในระยะแรกอาจต้องดูแลเอาใจใส่ในรายละเอียดค่อนข้างมาก เมื่อโตขึ้นเป็นไม้รุ่นหรือพร้อมให้ดอกก็จะมีวิธีการปลูกเลี้ยงทั่วไปที่ไม่ยุ่งยากมากนัก แต่ต้องคอยดูแลในเรื่องของสภาพแวดล้อมที่ปลูกซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

     - แสง
แวนด้าใบแบนต้องการแสงมากแต่ยังน้อยกว่าแวนด้าใบกลม แต่ไม่ควรถูกแสงแดดโดยตรง ซึ่งจะทำให้ใบเหลืองซีดหรือไหม้ได้ ควรพลางแสงลง 40-50 เปอร์เซ็นต์ หรือสังเกตดูสีของใบว่า ถ้าใบสีเขียวเข้มแสดงว่าได้รับแสงน้อยเกินไป แวนด้าใบแบนที่ได้รับแสงเหมาะสมจะมีสีเขียวออกเหลือง แต่ไม่เหลืองมากจนดูเหมือนซีดVanda Mimi Plamer
     - อุณหภูมิ
กล้วยไม้ในกลุ่มของแวนด้า (Vandaceous) ส่วนใหญ่เจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนชื้นจึงสามารถทนต่ออุณหภูมิสูงได้ในช่วงที่ค่อนข้างกว้างระหว่าง 10-38 องศาเซลเซียส หากกล้วยไม้อยู่ในสภาพที่อุณหภูมิสูงหรือต่ำกว่านี้ก็จะทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการเจริญเติบโต
     - ความชื้นในอากาศ
ในสภาพที่อากาศร้อนและแห้งในตอนกลางวัน ควรปรับโรงเรือนสถานที่ให้มีอากาศถ่ายเทหมุนเวียนอย่างสม่ำเสมอ และให้สามารถเก็บความชื้นไว้ได้นานๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากล้วยไม้ร้อนและขาดน้ำ เพราะแวนด้าใบแบนนอกจากต้องการแสงแดดค่อนข้างมากแล้วยังต้องการความชื้นสูงอีกด้วย ในตอนกลางวันความชื้นในอากาศที่เหมาะสมของแวนด้าใบแบนประมาณ 50-80 เปอร์เซ็นต์ และสำหรับตอนกลางคืนอาจจะต้องระวังเรื่องความชื้น เนื่องจากความชื้นที่สูงอาจก่อให้เกิดเชื้อราหรือเชื้อโรคอื่นๆได้ง่ายเช่นกัน ดังนั้นจะต้องจัดสภาพแวดล้อมการปลูกเลี้ยงให้โปร่ง โล่ง มีอากาศหมุนเวียนอย่างสม่ำเสมอ และไม่ควรมีบริเวณที่อับลม
     -น้ำ
ปกติการให้น้ำแวนด้าใบแบนจะให้ 2 ครั้ง ตอนเช้าและตอนเย็น และถ้าวันไหนฝนตกก็อาจงดให้น้ำได้ การให้น้ำนอกจากจะทำให้กล้วยไม้ดูสดชื่นและเจริญเติบโตดีแล้ว ยังมีส่วนเพิ่มความชื้นในอากาศอีกด้วย
     - ปุ๋ย
รดปุ๋ยให้แวนด้าใบแบนทุก 5-7 วันอย่างต่อเนื่อง ระยะที่ต้นกล้วยไม้ยังเล็กอยู่จะให้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 21-21-21, 18-18-18 สลับกับตัวท้ายสูง เช่น 16-21-27, 3-37-37 โดยผสมให้เจือจางลงครึ่งหนึ่งไปก่อนจนกว่าต้นและรากเจริญเต็มที่ แต่สำหรับกล้วยไม้รุ่นหรือไม้ใหญ่จะใช้สูตรเสมอสลับกับตัวท้ายสูง เมื่อใกล้ระยะออกดอกให้ใช้สูตรตัวกลางสูง เช่น 10-45-10 แทนสูตรเสมอเพื่อเร่งการออกตาดอก เมื่อตาดอกออกมาจึงหยุดให้ตัวกลางสูงแล้วจึงกลับมาใช้สูตรเสมอสลับกับตัวท้ายสูงอีกครั้ง และถ้าต้องการให้ดอกที่ออกมาขนาดใหญ่ ช่อดอกยาว แข็งแรง ก็รดปุ๋ยเฉพาะสูตรตัวท้ายสูงอย่างเดียวก็ได้
3. แวนด้าก้างปลา แวนด้าก้างปลาเป็นลูกผสมของแวนด้าใบกลมกับแวนด้าใบแบน ความต้องการสภาพแวดล้อมในการปลูกเลี้ยงจะอยู่ก้ำกึ่งกันระหว่างแวนด้าใบแบนและแวนด้าใบกลม คือ ความต้องการแสงอยู่ระหว่าง 70-80 เปอร์เซ็นต์ ภาชนะที่ใช้ปลูกนิยมใช้กระถางทรงสูง เจาะรูด้านข้างด้วย ใช้เครื่องปลูก เช่น ถ่าน เศษกระถางแตกหรือเศษอิฐ ส่วนการรดน้ำและการให้ปุ๋ยก็ยังใช้หลักการเดียวกันกับการปลูกเลี้ยงแวนด้าใบแบน
4.แวนด้าใบร่อง เป็นกล้วยไม้ลูกผสมระหว่างแวนด้าใบแบนกับแวนด้าก้างปลา แต่จะค่อนไปทางแวนด้าใบแบนมากกว่า ดังนั้นความต้องการแสงแดดจะอยู่ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนวิธีการปลูกเลี้ยงโดยทั่วไปแล้วเหมือนกับแวนด้าก้างปลา
    กล้วยไม้ในสกุลแวนด้าสามารถที่จะนำไปผสมข้ามสกุลเพื่อให้เกิดเป็นสกุลใหม่ที่รวมเอาลักษณะที่ดีของแต่ละสายพันธุ์ มาพัฒนาเพื่อให้เกิดสายพันธุ์ที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและทางด้านวิทยาศาสตร์ แวนด้าที่ผสมข้ามสกุลมีหลายชนิด ตัวอย่างเช่น
- สกุลแอสโคเซนด้า (Ascocenda) เกิดจากการผสมระหว่างสกุลแวนด้า กับสกุลแอสโคเซนตรัม
- สกุลอะแรนด้า (Aranda) เกิดจากการผสมระหว่างสกุลแวนด้า กับสกุลอะแรคนิสหรือแมลงปอ
- สกุลรีแนนแทนด้า (Renantanda) เกิดจากการผสมระหว่างสกุลแวนด้า กับสกุลรีแนนเธอรา
- สกุลแวนเดนอฟซิส (Vandaenopsis) เกิดจากการผสมระหว่างสกุลแวนด้า กับสกุลฟาแลนอปซิส
- สกุลแวนดอไรทิส (Vandoritis) เกิดจากการผสมระหว่างสกุลแวนด้า กับสกุลดอไรทิสหรือม้าวิ่ง